คณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (กอช.)

สืบเนื่องจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างต่อเนื่อง จากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพเกินศักยภาพ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ รัฐบาลจึงได้ประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2543 ขึ้น และกำหนดให้มีคณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (กอช.) เพื่อดูแลรักษา และกำหนดนโยบายด้านการอนุรักษ์ใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของประเทศไทย และการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ อีกทั้ง เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สนองต่อวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 มีการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2543 เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม จึงแก้ไขเป็น ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548

ต่อมาในปี พ.ศ. 2563 ให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2543 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. 2548 และให้มีการจัดตั้งระเบียบสานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2563 ซึ่งได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนพิเศษ 234 ง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 โดยได้กำหนดให้มีคณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (กอช.) เพื่อเสนอแนวทาง นโยบาย มาตรการ และแผนการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ เสนอแนะการประสานความร่วมมือในการบูรณาการข้อมูลและองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และประสานการปฏิบัติงานเพื่อให้เป็นไปตามแนวทาง นโยบาย มาตรการ และแผนการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและตามข้อตกลงหรือความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

ดาวน์โหลด

ปี พ.ศ. 2543 (ฉบับที่ 1)    ปี พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 2)   ปี พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ 3)

เนื้อหาเพิ่มเติม
องค์ประกอบ/อำนาจหน้าที่
การประชุม
ติดต่อฝ่ายเลขานุการ

อำนาจหน้าที่

  • เสนอแนวทาง นโยบาย มาตรการ และแผนการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ รวมถึงระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพ การได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ความปลอดภัยทางชีวภาพ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ
  • ให้ความเห็นแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ
  • เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในการปฏิบัติตามแนวทาง นโยบาย มาตรการ และแผนการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ กฎหมาย และพันธกรณี ตามความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนการจัดให้มีกฎหมาย การแก้ไขเพิ่มเติมหรือการปรับปรุงกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐให้สอดคล้องกับแนวทาง นโยบาย มาตรการ และแผนการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ
  • ประสานงานโครงการความช่วยเหลือจากต่างประเทศเพื่อดำเนินการให้มีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
  • เสนอแนะแนวทางการประสานความร่วมมือในการบูรณาการข้อมูลและองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสนับสนุน เร่งรัด ติดตาม ประเมินผล และแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ
  • ประสานการปฏิบัติงานกับหน่วยงานของรัฐเพื่อให้เป็นไปตามแนวทาง นโยบาย มาตรการ และแผนการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และตามข้อตกลงหรือความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ
  • แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อให้ปฏิบัติงานตามที่ กอช. มอบหมาย
  • ปฏิบัติการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

แหล่งที่มาของข้อมูล : กองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม