คำนิยาม

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (Alien Species) หมายถึง ชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิต ที่ไม่เคยปรากฏในถิ่นชีวภูมิศาสตร์หนึ่งมาก่อนแต่ได้ถูกนำเข้ามาหรือเข้ามาโดยวิธีใด ๆ จากถิ่นอื่น ซึ่งอาจดำรงชีวิตอยู่และสามารถสืบพันธุ์ได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของปัจจัยแวดล้อมและการปรับตัวของชนิดพันธุ์นั้น

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (Invasive Alien Species : IAS) หมายถึง ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาแล้วสามารถตั้งถิ่นฐานและมีการแพร่กระจายได้ธรรมชาติ เป็นชนิดพันธุ์เด่นในสิ่งแวดล้อมใหม่ (dominant species) และเป็นชนิดพันธุ์ที่อาจทำให้ชนิดพันธุ์พื้นเมืองสูญพันธุ์ รวมไปถึงส่งผลคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพและก่อให้เกิดความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขอนามัย

ข้อมูลเพิ่มเติม
หลักเกณฑ์
มาตรการ
ดาวน์โหลด
ทะเบียนชนิดพันธุ์

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาจัดกลุ่มทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ที่ควรป้องกัน ควบคุม และกำจัดของประเทศไทย

รายการ 1 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว หมายถึง ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาในประเทศไทยแล้ว และสามารถตั้งถิ่นฐานและมีการแพร่กระจายได้ในธรรมชาติ เป็นชนิดพันธุ์เด่นในสิ่งแวดล้อมใหม่ (dominant species) และเป็นชนิดพันธุ์ที่อาจทำให้ชนิดพันธุ์ท้องถิ่นหรือชนิดพันธุ์พื้นเมืองสูญพันธุ์ รวมไปถึงส่งผลคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพและก่อให้เกิดความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสุขอนามัยของมนุษย์

รายการ 2 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีแนวโน้มรุกราน หมายถึง (1) ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีหลักฐานว่ามีการรุกรานในถิ่นอื่น ที่เข้ามาในประเทศไทยแล้ว และสามารถตั้งถิ่นฐาน และมีการแพร่กระจายได้ในธรรมชาติ จากการสำรวจและเฝ้าสังเกตพบว่าอาจแพร่ระบาดหากมีปัจจัยเกื้อหนุนหรือสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (2) ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เคยรุกรานในอดีต ซึ่งสามารถควบคุมดูแลได้แล้ว

รายการ 3 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีประวัติว่ารุกรานแล้วในประเทศอื่นแต่ยังไม่รุกรานในประเทศไทย หมายถึง ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาในประเทศไทยแล้วมีหลักฐานว่ามีการรุกรานในประเทศอื่น

รายการ 4 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานที่ยังไม่เข้ามาในประเทศไทย หมายถึง ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีข้อมูลหรือหลักฐานว่าเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานในประเทศอื่น ได้แก่ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นตามทะเบียน 100 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานรุนแรงของโลก ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ห้ามนำเข้าตามกฎหมาย และชนิดพันธุ์ที่มีข้อมูลจากผลการศึกษาวิจัยว่าเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานในพื้นที่อื่น ๆ

หมายเหตุ: สำหรับชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในทะเบียนรายการ 1, 2 และ 3 ที่ถูกระบุว่าเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สามารถส่งเสริมในเชิงเศรษฐกิจได้ แต่ต้องมีมาตรการป้องกันเฉพาะที่รัดกุมเพื่อมิให้เกิดการแพร่กระจายเข้าไปในพื้นที่อนุรักษ์ นอกจากนี้สำหรับสัตว์น้ำต่างถิ่นใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ควรควบคุมหรือมีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการปล่อยสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติถึงแม้เป็นนอกพื้นที่อนุรักษ์ก็ตาม

มาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

มาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น มุ่งเน้นการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด การกำจัด การเฝ้าระวังและติดตามชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่พบว่ารุกรานแล้ว มีแนวโน้มรุกราน และชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานของโลกทั้งที่เข้ามาแล้วและยังไม่ได้เข้ามาในประเทศไทย ตามที่กำหนดไว้ในทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ควรป้องกัน ควบคุม กำจัด ของประเทศไทย มีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบและหน่วยงานสนับสนุนรวม 35 หน่วยงาน เพื่อให้เกิดการดำเนินการตามมาตรการอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม กิจกรรมตามมาตรการป้องกัน ควบคุม และกาจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นจึงควรได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสานักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรขยายการดำเนินงานตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่แล้ว ให้ครอบคลุมกิจกรรมตามมาตรการนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในทางปฏิบัติ ประกอบด้วย มาตรการ 5 ด้าน ดังนี้

มาตรการที่ 1 การกำหนดนโยบาย แผน กฎหมาย และงบประมาณ สำหรับการบริหารจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

มาตรการที่ 2 การบริหารจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

มาตรการที่ 3 การเฝ้าระวังและติดตามชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

มาตรการที่ 4 การสนับสนุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

มาตรการที่ 5 การเผยแพร่ สร้างความตระหนักและให้ความรู้ในเรื่องของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ดาวน์โหลด

มติคณะรัฐมนตรี มาตรการ ป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น 2561

จัดทำโดย : กองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ดาวน์โหลด

แนวทางการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานของประเทศไทย

จัดทำโดย : กองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ดาวน์โหลด

พืชต่างถิ่นรุกรานในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

จัดทำโดย : สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ดาวน์โหลด

พืชต่างถิ่นรุกรานในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

จัดทำโดย : สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

แหล่งที่มาเนื้อหา : สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม