ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงรักษาเกื้อหนุนชีวิตในชีวมณฑลและมีคุณค่ามหาศาลต่อชนรุ่นปัจจุบันและอนาคต เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ นันทนาการและสุนทรีย ในขณะเดียวกันระบบนิเวศในปัจจุบันกำลังถูกคุกคาม ปรากฏการสูญพันธุ์จากกิจกรรมของมนุษย์มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างสำนึกถึงคุณค่าอันแท้จริงของความหลากหลายทางชีวภาพ จึงต้องอาศัยความร่วมมือกันของมวลมนุษยชาติในการร่วมกันพลิกฟื้นวิกฤต ธำรงรักษาโลกและฟื้นฟูสันติสุขสำหรับโลกนี้สืบต่อไป
อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม ภายหลังการประชุมสุดยอดด้านสิ่งแวดล้อม ณ นครริโอ เด จาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี พ.ศ. 2535 สำหรับดำเนินงานเพื่อหยุดยั้งปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2536
พันธกรณีที่ประเทศไทยต้องดำเนินการ
1. มาตรา 6 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
จัดทำกลยุทธ์แนวทางและแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้และเหมาะสมผสานการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนเข้ากับแผนงานของหน่วยงานและภาคกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด
2. มาตรา 7 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
จำแนกระบุและติดตามตรวจสอบองค์ประกอบความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศที่สำคัญต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน จำแนกระบุและติดตามตรวจสอบกระบวนการ และประเภทของกิจกรรมซึ่งมีหรือมีแนวโน้มว่าจะมีผลกระทบต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
3. มาตรา 8 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ โดยจัดตั้งระบบพื้นที่คุ้มครองหรือพื้นที่ภายใต้มาตรการพิเศษและกำหนดมาตรการเฉพาะด้านควบคุมดูแลและจัดการองค์ประกอบที่สำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ ควบคุมดูแลและจัดการกิจกรรมที่อาจเป็นภัยต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ฟื้นคืนสภาพและฟื้นคืนระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมและชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น จัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์และการปลดปล่อยสิ่งมีชีวิตที่ผ่านการดัดแปลงทางพันธุกรรมสงวนรักษาและดำรงไว้ซึ่งความรู้และขนบประเพณีของชุมชนพื้นเมืองและท้องถิ่น
4. มาตรา 9 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ โดยวางมาตรการบำรุงและฟื้นฟูชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์และนำกลับคืนสู่ถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติเดิม
5. มาตรา 10 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
ใช้ประโยชน์องค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยจัดทำมาตรการแผนระดับชาติเพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน สนับสนุนชุมชนท้องถิ่นให้จัดทำและปฏิบัติตามมาตรการแก้ไขฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรม และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาวิธีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน
6. มาตรา 11 มาตรา 12 และมาตรา 14 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
ดำเนินมาตรการเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยใช้มาตรการที่เหมาะสมทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นแรงจูงใจ จัดวางโครงการส่งเสริมการศึกษา การสร้างความตระหนัก การวิจัย การฝึกอบรม และนำกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมการมีส่วนร่วมของสาธารณชนมาใช้กับโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
7. มาตรา 17 และมาตรา 18 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
ร่วมมือกับประเทศภาคีอื่นในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารความหลากหลายทางชีวภาพและส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการและวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
8. มาตรา 15 และมาตรา 16 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
แบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม โดยพิจารณาเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงและการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ยุติธรรม
9. มาตรา 20 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
สนับสนุนทางการเงินและแรงจูงใจสำหรับการอนุวัตอนุสัญญาฯ ในระดับชาติตามสมรรถนะ
10. มาตรา 26แห่งอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
จัดทำและเสนอรายงานเกี่ยวกับการอนุวัติอนุสัญญาฯ ต่อสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ คณะอนุกรรมการความหลากหลายทางชีวภาพด้านการประสานท่าทีเจรจาและความร่วมมือระหว่างประเทศ
แหล่งที่มาข้อมูล : https://chm-thai.onep.go.th/?page_id=3810