พิธีสารเสริมนาโงยา-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ของพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ

ความเป็นมา

สมัชชาภาคีพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ในการประชุมสมัยที่ 5 ระหว่างวันที่ 11-15 ตุลาคม 2554 ณ เมืองนาโงยา ประเทศญี่ปุ่น ได้รับรองพิธีสารเสริมนาโงยา-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ของพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Nagoya – Kuala Lumpur Supplementary Protocol on Liability and Redress to the Cartagene Protocol on Biosafety) ซึ่งจะเป็นกลไกระหว่างประเทศว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ความเสียหายอันเกิดจากการเคลื่อนย้ายสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมข้ามพรมแดน

วัตถุประสงค์

เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสุขภาพของมนุษย์ โดยการจัดเตรียมกฎเกณฑ์และแนวทางระหว่างประเทศในเรื่องการรับผิดและชดใช้ที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม

สาระสำคัญ

ประกอบด้วย 21 มาตรา โดยมาตรา 1-12 เป็นเนื้อหาพันธกรณี และมาตรา 13-21 เป็นการบริหารต่างๆ ของสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะนำมาใช้กับความเสียหายต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพมนุษย์ ที่เกิดขึ้นภายในขอบเขตอำนาจรัฐภาคี และเป็นผลมาจากการขนส่ง การนำผ่าน การดูแล และการใช้สิ่งมีชีวิตดัดแหลงพันธุกรรมที่เคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน เพื่อนำมาใช้โดยตรงเป็นอาหารหรืออาหารสัตว์หรือใช้ในกระบวนการผลิต หรือเพื่อการใช้ในสภาพควบคุมหรือเพื่อปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม เป็นการเคลื่อนย้ายข้ามแดนทั้งโดยเจตนา โดยไม่เจตนาตามมาตรา 17 ของพิธีสารฯ โดยผิดกฎหมายตามมาตรา 25 ของพิธีสารฯ และโดยประเทศที่ไม่ใช่ภาคี ภาคีจะต้องกำหนดมาตรการตอบสนองในกรณีเกิดความเสียหาย และดำเนินการโดยสอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศ หรืออาจกำหนดไว้ในกฎหมายภายในว่าด้วยการรับผิดทางแพ่ง

โดยกฎหมายภายในจะต้องกำหนดให้ผู้ประกอบกิจกรรมดำเนินการดังนี้
  • แจ้งหน่วยงานรับผิดชอบทันทีที่เกิดความเสียหาย
  • ประเมินความเสียหาย
  • ดำเนินมาตรการตอบสนองที่เหมาะสม
  • ต้องไม่ขัดขวางการดำเนินการใด ๆ ของหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินการแก้ไขเยียวยา

ภาคีมีสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายในการประเมินความเสียหาย และการดำเนินการตามมาตรการจากผู้ประกอบกิจกรรม รวมถึงกำหนดเรื่องการแก้ไขเยียวยา การทบทวนการบริหารจัดการ การตัดสินของศาล ตลอดจนกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางการรับผิดทางแพ่ง โดยอาจใช้กฎหมายที่มีอยู่หรือพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะสำหรับวัตถุประสงค์นี้หรือผสมผสานกัน โดยระบุถึงความเสียหาย มาตรการรับผิด ช่องทางการรับผิด สิทธิที่จะเรียกร้อง

ทั้งนี้ ภาคีอาจใช้เกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายภายในมากำหนดความเสียหาย กำหนดช่วงเวลาดำเนินการ และข้อจำกัดทางการเงินเพื่อเรียกคืนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง

แหล่งที่มาข้อมูล : https://chm-thai.onep.go.th/?page_id=3826